การต่อแผงโซล่าเซลล์ |
โดยปกติแล้วการต่อแผงโซล่าเซลล์หลาย ๆ แผงเข้าด้วยกันนั้น จะต้องรู้ก่อนว่าขนาดของระบบที่เราออกแบบมาจะใช้งานที่แรงดันไฟฟ้าเท่าไรให้สอดคล้องกับกำลังไฟฟ้าที่จะใช้งาน โดยทั่วไปแล้วจะใช้ที่แรงดัน 12 , 24, 48 และ 120 โวลท์ เป็นหลัก ดังนั้นการต่อแผงโซล่าเซลล์จะต้องเลือก เครื่องควบคุมการชาร์จ แบตเตอรี่ และโหลดให้มีความสอดคล้องร่วมกันด้วย
การต่อแผงโซล่าเซลล์มีอยู่สองแบบด้วยกัน
1.) การต่อแบบอนุกรม – คือนำขั้วบวกของโซล่าเซลล์แผงหนึ่งมาต่อกับขั้วลบอีกแผงหนึ่งไปเรื่อยๆ จนได้แรงดันตามระบบที่ออกแบบไว้ การต่อแบบอนุกรมนี้จะทำให้แรงดันไฟฟ้าเพิ่มขึ้นแต่กระแสในระบบจะเท่าเดิม ตัวอย่าง ถ้ามีโซล่าเซลล์แรงดัน 12 โวลท์ กระแส 2.5 แอปม์ x 2 แผง มาต่ออนุกรมกันจะได้แรงดันรวมอยู่ที่ 24 โวลท์และกระแสรวม 2.5แอมป์
2.) การต่อแบบขนาน – คือนำขั้วบวกของโซล่าเซลล์แผงหนึ่งไปต่อกับขั้วบวกของโซล่าเซลล์อีกแผงหนึ่ง และนำขั้วลบแผงหนึ่งไปต่อกับขั้วลบอีกแผงหนึ่ง การต่อแบบนี้จะทำให้กระแสไฟฟ้าเพิ่มขึ้นแต่แรงดันเท่าเดิม ตัวอย่างถ้ามีแผงโซล่าเซลล์ตามสเปคข้างบน 2 แผงนำมาต่อแบบขนานจะได้แรงดันรวมของระบบ 12 โวลท์และกระแสไฟฟ้ารวม 5 แอมป์(2.5แอมป์ x 2)
สังเกตุว่าการต่อแผงโซล่าเซลล์ทั้งสองแบบนี้ จะได้ค่าของกำลังไฟฟ้าออกมาเท่ากันคือ (24Vx2.5A) หรือ (12Vx5A) = 60 วัตต์(ตัวอย่างแผงที่ยกมา โซล่าเซลล์หนึ่งแผงจะมีกำลังไฟฟ้า 30 วัตต์)ตามสูตรพื้นฐานไฟฟ้าง่ายๆคือ P=V x I โดย P=กำลังไฟฟ้า(วัตต์), V=แรงดันไฟฟ้า(โวลท์) , I=กระแสไฟฟ้า(แอมป์)
ถ้าระบบที่เราจะนำแผงโซล่าเซลล์ไปต่อเป็นแบบแยกเดี่ยวที่ต่อตรงเข้ากับแบตเตอรี่และโหลดกระแสตรงเลย เราจะต้องต่อแผงโซล่าเซลล์ให้มีแรงดันรวมที่ผลิตออกมาจากแผงมากกว่าแรงดันของแบตเตอรี่ประมาณ1.4-1.5เท่า โซล่าเซลล์ถึงจะชาร์จประจุเข้า เช่นแบตเตอรี่มีแรงดันไฟฟ้า 12 โวลท์ จะต้องมีแรงดันจากแผงโซล่าเซลล์ประมาณ 16.8-18โวลท์(Vmp)
แต่ถ้าระบบที่เราออกแบบเป็นแบบต่อร่วมกับเครื่องควบคุมการชาร์จ ให้เราต่อแผงโซล่าเซลล์ให้มีแรงดันใกล้เคียงกับสเปคของตัวเครื่องควบคุมการชาร์จได้เลย
ข้อควรระวัง
การต่อแผงโซล่าเซลล์แบบอนุกรมควรระวังอย่าให้มีเงามาตกกระทบบดบังแสงที่จะส่งไปยังแผงโซล่าเซลล์ เพราะจะทำให้ประสิทธิภาพโดยรวมทั้งหมดของระบบลดลงหรือถึงขั้นไฟฟ้าไม่สามารถผลิตขึ้นได้ เปรียบเหมือนกับท่อน้ำที่ถูกตัดระหว่างทางทำให้ไม่สามารถส่งน้ำไปยังปลายทางได้ ทั้งนี้สามารถหลีกเลี่ยงได้โดยการต่อบายพาสไดโอดขนานกับแผงหรือการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ให้หลีกเลี่ยงเงาที่จะตกกระทบลงบนแผง
การเลือกขนาดสายไฟที่จะมาต่อกับระบบ
ขนาดพื้นที่หน้าตัดของสายไฟจะมีผลกับการนำไฟฟ้าว่ามากน้อยเพียงใด ถ้าขนาดพื้นที่หน้าตัดของสายไฟมีขนาดเล็ก(หน่วยเป็นตารางมิลลิเมตร – mm2) สายไฟก็จะมีความต้านทานมากและนำไฟฟ้าได้น้อย ถ้าขนาดพื้นที่หน้าตัดของสายไฟมีขนาดใหญ่ สายไฟจะมีความต้านทานน้อยจึงทำให้นำไฟฟ้าได้ดี
การที่สายไฟมีขนาดเล็กนั้นจะส่งผลทำให้มีแรงดันตกคร่อมอยู่ในสายด้วย ถ้าแผงโซล่าเซลล์ที่ต่อไว้บนหลังคาต่อสายไฟโยงลงมาถึงตัวแบตเตอรี่หรือเครื่องควบคุมการชาร์จมีระยะที่ไกลมากแรงดันที่ตกคร่อมในสายไฟระหว่างทางจะมีมาก ทำให้แรงดันไฟฟ้าที่ต้องการสำหรับระบบจริงไม่ได้ตามที่ออกแบบไว้ตั้งแต่ต้น ตัวอย่าง ถ้าเราใช้สายขนาดพื้นที่หน้าตัดเท่ากับ1.5ตารางมิลลิเมตร จะมีค่าความต้านทานอยู่ที่ 12 มิลลิโอมต่อเมตร(หรือ0.012 โอมต่อเมตร) ใช้สูตรพื้นฐานทางไฟฟ้าคำนวนค่าความต้านทานของสาย คือ V=I*R ,โดย V=แรงดันไฟฟ้า(โวลท์) , I=กระแสไฟฟ้า(แอมป์), R=ความต้านทาน(โอม) สมมติถ้าระบบมีแรงดันจากแผงโซล่าเซลล์เท่ากับ 18 โวลท์และกระแสไฟ 5แอมป์ สายไฟยาว 20 เมตร จะมีแรงดันที่ตกคร่อมในสายไฟคือ 5*(20*0.012)=1.2โวลท์ เมื่อเทียบเป็นเปอร์เซนต์แล้ว แรงดันจากแผงต้นทางไปถึงปลายทาง (1.2/18*100)=6.67 เปอร์เซนต์ เพราะฉะนั้นแรงดันที่ปลายสายไฟเท่ากับ 18-1.2=16.8โวลท์ ดังนั้นจึงต้องคำนวนดูด้วยว่าถ้าใช้สายไฟขนาดนี้แรงดันปลายทางจะได้เพียงพอที่จะไปจ่ายให้กับแบตเตอรี่หรือตัวควบคุมการชาร์จได้หรือไม่ จากตัวอย่างข้างต้นการใช้สายไฟพื้นที่หน้าตัด 1.5 ตร.มม.ยาว 20 เมตร ก็พอที่จะนำไปต่อกับแบตเตอรี่ 12 โวลท์หรือเครื่องควบคุมการชาร์จสเปคแรงดันที่16.8โวลท์ได้ แต่ถ้าต้องการลากสายให้ยาวกว่านี้ก็ควรจะเพิ่มขนาดพื้นที่หน้าตัดของสายไฟขึ้นเพื่อว่าจะมีค่าความต้านทานในสายลดลงและแรงดันที่ตกคร่อมสายก็จะลดลงตามไปด้วยหรือเลือกที่จะเพิ่มแรงดันของระบบขึ้นจากเดิมก็จะทำแรงดันปลายทางยังสูงอยู่เมื่อหักลบแรงดันตกคร่อมในสายออกไปแล้ว แต่ทั้งนี้ต้องอย่างลืมเรื่องสเปคของแรงดันแบตเตอรี่และเครื่องควบคุมการชาร์จด้วย
ตารางความต้านทานของสายไฟตัวนำทองแดงขนาดพื้นที่หน้าตัดต่างๆ
พื้นที่หน้าตัด
(ตารางมิลลิเมตร)
|
ความต้านทาน
(มิลลิโอมต่อเมตร)
|
ทนกระแสไฟฟ้า
(แอมป์)
|
1.0
|
18.0
|
15.0
|
1.5
|
12.0
|
19.5
|
2.5
|
7.4
|
27.0
|
4.0
|
4.6
|
36.0
|
6.0
|
3.0
|
46.0
|
10.0
|
1.83
|
63.0
|
16.0
|
1.15
|
85.0
|
หมายเหตุ
การคำนวนความต้านทานและแรงดันตกคร่อมในสายไฟจะต้องคำนวนแบบเดียวกันในฝั่งของโหลดด้วย
(ข้อมูลดีๆนี้จาก solarsmileknowledge)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น