วันจันทร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

เครื่องชาร์จโทรศัพท์มือถือพลังงานแสงอาทิตย์(เล็กที่สุดในโลก)

สินค้าพลังงานแสงอาทิตย์

          ชื่อของมันคือ HeLi-on ที่ชาร์จอุปกรณ์และโทรศัพท์มือถือพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลก ของบริษัท infinityPV ผู้นำด้านการผลิตนวัตกรรมและเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใส่ใจผู้บริโภคของประเทศเดนมาร์ก HeLi-on ที่มีขนาดเล็กและบางเพียงพอสำหรับใส่ในกระเป๋ากางเกงของคุณได้อย่างสบาย ๆ และไม่เกะกะแต่อย่างใด ด้วยรูปแบบของการชาร์จที่แปลกใหม่ของการเก็บพลังงานแสงอาทิตย์ สร้างความเพลิดเพลินในการใช้งานอย่างเต็มที่

เครื่องชาร์จพลังงานแสงอาทิตย์


          HeLi-on เป็นนวัตกรรมที่ได้ใช้ OPV (Organic Solar Cells) เทคโนโลยีการพิมพ์แผงโซล่าเซลล์ลงบนแผ่นฟิล์มที่มีความยืดหยุ่นสูงสามารถหักงอได้ สร้างรูปแบบการชาร์จที่ฉีกกฎเกณฑ์การชาร์จแบบเดิม ๆ โดยแผ่นฟิล์มโซล่าเซลล์สามารถคลี่ออกมาเพื่อทำการรวบรวมพลังงานแสงอาทิตย์และเมื่อเก็บกักพลังงานไฟฟ้าจนเป็นที่พอใจแล้วก็สามารถม้วนแผ่นฟิล์มเก็บเข้าไว้ในตัวอุปกรณ์อีกด้วย สร้างทางเลือกในการใช้งานที่หลากหลายไม่ว่าจะชาร์จโดยการยืดและกางแผ่นฟิล์มออก หรือจะชาร์จจากพลังงานที่ได้เก็บสะสมเอาไว้แล้วก็ตามแต่สะดวก รองรับการเชื่อมต่อกับทุกอุปกรณ์ที่ใช้สาย USB ในการเชื่อมต่อ ฟื้นชีวิตให้กับโทรศัพท์มือถือของคุณอีกครั้ง ไม่มีพลาดทุกการติดต่อสื่อสาร 



เครื่องชาร์จพลังงานแสงอาทิตย์





เรือรดน้ำพลังงานแสงอาทิตย์

พลังงานแสงอาทิตย์





          น้องๆที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีศูนย์ศิลปาชีพบางไทร ช่วยกันออกแบบใว้ครับ ช่วยให้ไอเดียต่อยอดแก่น้อง ๆ ด้วย


          โครงสร้างเรือ เป็นการนำท่อ PVC มาประกอบต่อๆกันเป็นลำเรือ แล้วทำการใส่มอเตอร์(ปั้มแช่ 12V 3A) จำนวน 3 ตัว เข้าไปที่ส่วนท้ายของลำเรือทำหน้าเป็นตัวขับเคลื่อนตัวเรือ (เดินหน้า เลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา)




          ยังไม่สามารถถอยหลังได้ เนื่องจากเป็นการนำเอามอเตอร์ปั้มแช่ 12VDC ที่มีหลักการทำงาน สูบน้ำจากด้านใต้แล้วปล่อยน้ำออก เพื่อดันตัวเรือไปด้านหน้า
ในอนาคต ถ้ามีความจำเป็น หรือความเหมาะสมที่จะต้องทำถอยหลังด้วย ก็สามารถทำได้





สามารถบังคับทิศทางตัวเรือ ได้ด้วยการสั่งงานผ่านรีโมท(รถบังคับ)
พลังงานที่ใช้มาจากการรับมาจากแผงโซล่าเซลล์ ผ่านโซล่าชาร์จเจอร์แล้วทำการบรรจุลงแบตเตอรี่ Lipo(ที่เลือกใช้เพราะมีน้ำหนักเบา)



ดูที่มาบทความ เรือรดน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อช่วยน้องๆต่อยอดไอเดีย ได้ที่ คลิกที่นี่




วันจันทร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

การต่อแผงโซล่าเซลล์

การต่อแผงโซล่าเซลล์


โดยปกติแล้วการต่อแผงโซล่าเซลล์หลาย ๆ แผงเข้าด้วยกันนั้น จะต้องรู้ก่อนว่าขนาดของระบบที่เราออกแบบมาจะใช้งานที่แรงดันไฟฟ้าเท่าไรให้สอดคล้องกับกำลังไฟฟ้าที่จะใช้งาน โดยทั่วไปแล้วจะใช้ที่แรงดัน 12 , 24, 48 และ 120 โวลท์ เป็นหลัก ดังนั้นการต่อแผงโซล่าเซลล์จะต้องเลือก เครื่องควบคุมการชาร์จ แบตเตอรี่ และโหลดให้มีความสอดคล้องร่วมกันด้วย

การต่อแผงโซล่าเซลล์มีอยู่สองแบบด้วยกัน
1.) การต่อแบบอนุกรม – คือนำขั้วบวกของโซล่าเซลล์แผงหนึ่งมาต่อกับขั้วลบอีกแผงหนึ่งไปเรื่อยๆ จนได้แรงดันตามระบบที่ออกแบบไว้ การต่อแบบอนุกรมนี้จะทำให้แรงดันไฟฟ้าเพิ่มขึ้นแต่กระแสในระบบจะเท่าเดิม ตัวอย่าง ถ้ามีโซล่าเซลล์แรงดัน 12 โวลท์ กระแส 2.5 แอปม์ x 2 แผง มาต่ออนุกรมกันจะได้แรงดันรวมอยู่ที่ 24 โวลท์และกระแสรวม 2.5แอมป์
การต่อแผงโซล่าเซลล์4_w
2.) การต่อแบบขนาน – คือนำขั้วบวกของโซล่าเซลล์แผงหนึ่งไปต่อกับขั้วบวกของโซล่าเซลล์อีกแผงหนึ่ง และนำขั้วลบแผงหนึ่งไปต่อกับขั้วลบอีกแผงหนึ่ง การต่อแบบนี้จะทำให้กระแสไฟฟ้าเพิ่มขึ้นแต่แรงดันเท่าเดิม ตัวอย่างถ้ามีแผงโซล่าเซลล์ตามสเปคข้างบน 2 แผงนำมาต่อแบบขนานจะได้แรงดันรวมของระบบ 12 โวลท์และกระแสไฟฟ้ารวม 5 แอมป์(2.5แอมป์ x 2)
การต่อแผงโซล่าเซลล์3_w
         สังเกตุว่าการต่อแผงโซล่าเซลล์ทั้งสองแบบนี้ จะได้ค่าของกำลังไฟฟ้าออกมาเท่ากันคือ (24Vx2.5A) หรือ (12Vx5A) = 60 วัตต์(ตัวอย่างแผงที่ยกมา โซล่าเซลล์หนึ่งแผงจะมีกำลังไฟฟ้า 30 วัตต์)ตามสูตรพื้นฐานไฟฟ้าง่ายๆคือ P=V x I โดย P=กำลังไฟฟ้า(วัตต์), V=แรงดันไฟฟ้า(โวลท์) , I=กระแสไฟฟ้า(แอมป์)
          ถ้าระบบที่เราจะนำแผงโซล่าเซลล์ไปต่อเป็นแบบแยกเดี่ยวที่ต่อตรงเข้ากับแบตเตอรี่และโหลดกระแสตรงเลย เราจะต้องต่อแผงโซล่าเซลล์ให้มีแรงดันรวมที่ผลิตออกมาจากแผงมากกว่าแรงดันของแบตเตอรี่ประมาณ1.4-1.5เท่า โซล่าเซลล์ถึงจะชาร์จประจุเข้า เช่นแบตเตอรี่มีแรงดันไฟฟ้า 12 โวลท์ จะต้องมีแรงดันจากแผงโซล่าเซลล์ประมาณ 16.8-18โวลท์(Vmp)
          แต่ถ้าระบบที่เราออกแบบเป็นแบบต่อร่วมกับเครื่องควบคุมการชาร์จ ให้เราต่อแผงโซล่าเซลล์ให้มีแรงดันใกล้เคียงกับสเปคของตัวเครื่องควบคุมการชาร์จได้เลย
ข้อควรระวัง
          การต่อแผงโซล่าเซลล์แบบอนุกรมควรระวังอย่าให้มีเงามาตกกระทบบดบังแสงที่จะส่งไปยังแผงโซล่าเซลล์ เพราะจะทำให้ประสิทธิภาพโดยรวมทั้งหมดของระบบลดลงหรือถึงขั้นไฟฟ้าไม่สามารถผลิตขึ้นได้ เปรียบเหมือนกับท่อน้ำที่ถูกตัดระหว่างทางทำให้ไม่สามารถส่งน้ำไปยังปลายทางได้ ทั้งนี้สามารถหลีกเลี่ยงได้โดยการต่อบายพาสไดโอดขนานกับแผงหรือการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ให้หลีกเลี่ยงเงาที่จะตกกระทบลงบนแผง

การเลือกขนาดสายไฟที่จะมาต่อกับระบบ
          ขนาดพื้นที่หน้าตัดของสายไฟจะมีผลกับการนำไฟฟ้าว่ามากน้อยเพียงใด ถ้าขนาดพื้นที่หน้าตัดของสายไฟมีขนาดเล็ก(หน่วยเป็นตารางมิลลิเมตร – mm2) สายไฟก็จะมีความต้านทานมากและนำไฟฟ้าได้น้อย ถ้าขนาดพื้นที่หน้าตัดของสายไฟมีขนาดใหญ่ สายไฟจะมีความต้านทานน้อยจึงทำให้นำไฟฟ้าได้ดี
          การที่สายไฟมีขนาดเล็กนั้นจะส่งผลทำให้มีแรงดันตกคร่อมอยู่ในสายด้วย ถ้าแผงโซล่าเซลล์ที่ต่อไว้บนหลังคาต่อสายไฟโยงลงมาถึงตัวแบตเตอรี่หรือเครื่องควบคุมการชาร์จมีระยะที่ไกลมากแรงดันที่ตกคร่อมในสายไฟระหว่างทางจะมีมาก ทำให้แรงดันไฟฟ้าที่ต้องการสำหรับระบบจริงไม่ได้ตามที่ออกแบบไว้ตั้งแต่ต้น ตัวอย่าง ถ้าเราใช้สายขนาดพื้นที่หน้าตัดเท่ากับ1.5ตารางมิลลิเมตร จะมีค่าความต้านทานอยู่ที่ 12 มิลลิโอมต่อเมตร(หรือ0.012 โอมต่อเมตร) ใช้สูตรพื้นฐานทางไฟฟ้าคำนวนค่าความต้านทานของสาย คือ V=I*R ,โดย V=แรงดันไฟฟ้า(โวลท์) , I=กระแสไฟฟ้า(แอมป์), R=ความต้านทาน(โอม) สมมติถ้าระบบมีแรงดันจากแผงโซล่าเซลล์เท่ากับ 18 โวลท์และกระแสไฟ 5แอมป์ สายไฟยาว 20 เมตร จะมีแรงดันที่ตกคร่อมในสายไฟคือ 5*(20*0.012)=1.2โวลท์ เมื่อเทียบเป็นเปอร์เซนต์แล้ว แรงดันจากแผงต้นทางไปถึงปลายทาง (1.2/18*100)=6.67 เปอร์เซนต์ เพราะฉะนั้นแรงดันที่ปลายสายไฟเท่ากับ 18-1.2=16.8โวลท์ ดังนั้นจึงต้องคำนวนดูด้วยว่าถ้าใช้สายไฟขนาดนี้แรงดันปลายทางจะได้เพียงพอที่จะไปจ่ายให้กับแบตเตอรี่หรือตัวควบคุมการชาร์จได้หรือไม่ จากตัวอย่างข้างต้นการใช้สายไฟพื้นที่หน้าตัด 1.5 ตร.มม.ยาว 20 เมตร ก็พอที่จะนำไปต่อกับแบตเตอรี่ 12 โวลท์หรือเครื่องควบคุมการชาร์จสเปคแรงดันที่16.8โวลท์ได้ แต่ถ้าต้องการลากสายให้ยาวกว่านี้ก็ควรจะเพิ่มขนาดพื้นที่หน้าตัดของสายไฟขึ้นเพื่อว่าจะมีค่าความต้านทานในสายลดลงและแรงดันที่ตกคร่อมสายก็จะลดลงตามไปด้วยหรือเลือกที่จะเพิ่มแรงดันของระบบขึ้นจากเดิมก็จะทำแรงดันปลายทางยังสูงอยู่เมื่อหักลบแรงดันตกคร่อมในสายออกไปแล้ว แต่ทั้งนี้ต้องอย่างลืมเรื่องสเปคของแรงดันแบตเตอรี่และเครื่องควบคุมการชาร์จด้วย
ตารางความต้านทานของสายไฟตัวนำทองแดงขนาดพื้นที่หน้าตัดต่างๆ
พื้นที่หน้าตัด
(ตารางมิลลิเมตร)
ความต้านทาน
(มิลลิโอมต่อเมตร)
ทนกระแสไฟฟ้า
(แอมป์)
1.0
18.0
15.0
1.5
12.0
19.5
2.5
7.4
27.0
4.0
4.6
36.0
6.0
3.0
46.0
10.0
1.83
63.0
16.0
1.15
85.0


หมายเหตุ
การคำนวนความต้านทานและแรงดันตกคร่อมในสายไฟจะต้องคำนวนแบบเดียวกันในฝั่งของโหลดด้วย


(ข้อมูลดีๆนี้จาก solarsmileknowledge)

แผงโซล่าเซลล์

โซล่าเซลล์

          แผงโซล่าเซลล์ คืออุปกรณ์ผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์หรือที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า Photovoltaics module(PV module) หรืออีกชื่อหนึ่งว่า Solar Cell Panel ซึ่งมีลักษณะด้านหน้าเป็นแผ่นกระจกใส ด้านในเป็นแผ่นโซล่าเซลล์หลายแผ่นต่อเรียงกัน อาจจะมีสีฟ้าเข้มหรือสีดำแล้วแต่ชนิดของโซล่าเซลล์ที่มาทำแผง ขนาดใหญ่เล็กแตกต่างกันไปแล้วแต่ขนาดของกำลังไฟฟ้า(วัตต์)ที่ผลิตได้ ภายนอกขอบเป็นโลหะหรืออลูมิเนียมแข็งแรง ไว้สำหรับยึดกับตัวจับที่ใช้สำหรับที่ต่างๆเช่นหลังคาบ้าน หรือโครงเหล็กที่ติดตั้งบนพื้นดินได้
          ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากแผงโซล่าเซลล์จะเป็นไฟฟ้ากระแสตรง ซึ่งสามารถนำไปต่อกับอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับไฟกระแสตรง หรืออาจจะนำไฟกระแสตรงที่ผลิตได้จากระบบโซล่าเซลล์ไปแปลงเป็นไฟกระแสสลับเพื่อเข้ากับอุปกรณ์ไฟฟ้ากระแสสลับที่ใช้กันตามบ้านทั่วไปได้ โดยสามารถเลือกต่อได้หลายแบบตามลักษณะการออกแบบและใช้งาน

ชนิดของเซลล์ที่นำมาทำแผงโซล่าเซลล์
          ... เซเลเนียมเซลล์ ... เป็นเซลล์ชนิดแรกๆที่ใช้มาทำแผงโซล่าเซลล์ตั้งแต่ปีทศวรรษที่1950 ปัจจุบันไม่ค่อยนิยมนำมาผลิตกันแล้วเนื่องจาก การผลิตกระแสไฟฟ้าที่ได้มีประสิทธิภาพที่ต่ำ
          ... ซิลิคอนเซลล์ ... เป็นเซลล์ที่ได้รับความนิยมในการนำมาผลิตเป็นแผงโซล่าเซลล์เป็นอย่างมากเพราะเป็นธาตุวัตถุดิบที่หาได้ไม่ยากและมีปริมาณมากเป็นอันดับสองรองจากออกซิเจน ซิลิคอนเป็นธาตุอโลหะที่มีความสัมพันธ์กับคาร์บอน เมื่อนำมาผ่านกระบวนการต่างๆอย่างถูกวิธี ก็จะมีปฏิกิริยาที่ตอบสนองกับแสง และสามารถเปลี่ยนพลังงานแสงเป็นพลังงานไฟฟ้าได้ ซึ่งซิลิคอนเซลล์นี้สามารถแบ่งย่อยได้อีกหลายชนิดแล้วแต่กระบวนการผลิตและแยกความบริสุทธ์ของธาตุซิลิคอน ซึ่งแบ่งเป็น 3 ชนิดใหญ่ด้วยกันได้แก่
1.   เซลล์ผลึกเดี่ยว – โมโนคริสตอลไลน์(Mono Crystalline Cell) หรือซิงเกิลคริสตอลไลน์(Single Crystalline Silicon) ลักษณะจะเป็นผลึกแผ่นสีน้ำเงินเข้มล้วน(มองเห็นเป็นสีดำ) แต่ละแผ่นมีลักษณะที่บางมากและแตกหักง่าย ค่าประสิทธิภาพสูงเพราะเป็นซิลิคอนที่ผ่านกระบวนค่อนข้างจะซับซ้อนและยุ่งยากจนได้ซิลิคอนที่มีความบริสุทธ์ จึงทำให้ซิลิคอนผลึกเดี่ยวนี้มีราคาค่อนข้างสูงตามไปด้วย
2. เซลล์ผลึกผสม – โพลีคริสตอลไลน์(Poly Crystalline Cell) หรือมัลติคริสตอลไลน์(Multi Crystalline Silicon) เป็นผลึกผสมที่ตัดมาจากซิลิคอนบล๊อก มีลักษณะสีนำเงินอ่อน และผลึกจะมีลวดลายไม่เหมือนกับซิลิคอนผลึกเดี่ยว มีค่าประสิทธิภาพที่ต่ำกว่าและมีราคาที่ถูกกว่าผลึกเดี่ยวเล็กน้อย มีลักษณะแผ่นบาง แตกหักง่ายเช่นเดียวกัน
3. เซลล์ฟิลม์บาง – อะมาฟัสเซลล์(Amorphous Cell)หรือทินฟิล์ม(Thin-film) เป็นฟิลม์บางที่เคลือบลงบนพื้นผิวเซลล์ ด้วยลักษณะการผลิตนี้เองจึงทำให้เซลล์ชนิดนี้ สามารถยืดหยุ่นและโค้งงอได้ จึงนำไปใช้กับแผงโซล่าที่ต้องการความยืดหยุ่น เซลล์ชนิดนี้มีราคาถูกและมีประสิทธิภาพที่ต่ำกว่าเซลล์สองแบบแรกอยู่มากเพราะขั้นตอนการผลิตที่ซับซ้อนน้อยกว่า นอกจากนี้เซลล์ชนิดนี้จะมีอายุการใช้ง่ายที่สั้นกว่าสองแบบแรกอีกด้วย
Type-of-solar-cell_e_w
          แผงโซล่าเซลล์ที่ได้มาตรฐานแต่ละแผ่น ผู้ผลิตจะติดฉลากแนบมากับตัวแผงด้วย จึงทำให้รู้ว่าสเปคแต่ละแผ่นเป็นอย่างไร เพื่อจะเลือกได้ถูกเวลานำไปออกแบบและใช้งานจริงได้ โดยค่าต่างๆส่วนใหญ่ในฉลากแนบมีดังนี้คือ
Nominal power(Pno) = ค่ากำลังไฟฟ้าที่ได้ในการใช้งานจริง
Efficiency (η) = ค่าประสิทธิภาพของโซล่าเซลล์ที่นำมาใช้ประกอบแผง
Rate Voltage (Vm) = ค่าแรงดันไฟฟ้าที่ผลิตได้จริง
Rate Current(Im) = ค่ากระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จริง
Open circuit  voltage(Voc) = ค่าแรงดันไฟฟ้าที่ไม่ได้จ่ายโหลด
Short circuit current(Isc) = ค่ากระแสไฟฟ้าสูงสุดที่ได้จากการทดสอบลัดวงจร
Maximum System voltage(IEC) = ค่าแรงดันไฟฟ้าสูงสุดที่แผงโซล่าเซลล์จะต่อในระบบได้
Temperature Coefficients of Power(P) = ค่าสัมประสิทธิกำลังไฟฟ้าเปลี่ยนแปลงเมื่ออุณภูมิเปลี่ยน
Temperature Coefficients of Voltage(Voc)  = ค่าสัมประสิทธิแรงดันไฟฟ้าเปลี่ยนแปลงเมื่ออุณภูมิเปลี่ยน
Temperature Coefficients of Current(Isc) = ค่าสัมประสิทธิกระแสไฟฟ้าเปลี่ยนแปลงเมื่ออุณภูมิเปลี่ยน
Nominal Operating Cell Temperature(NOCT) = ค่าอุณภมิเซลล์ใช้งานที่อ้างอิงถึงโดยการทดสอบ
Serie fuse rating = ค่ากระแสสูงสุดของฟิวส์ จะตัดเมื่อเกิดการลัดวงจร
I-V Curve = เป็นกราฟที่แสดงค่าสัมพันธ์ระหว่างค่ากระแสไฟฟ้ากับแรงดันไฟฟ้าในค่าความเข้มแสงต่างๆ
Dimension = ขนาดความกว้าง, ยาว, สูงและความหนาของแผง รวมไปถึง ที่ยึดและขนาดของรูสกรูสำหรับยืดในที่ต่างๆอีกด้วย
ตัวอย่างเสปคของแผงโมโนโซล่าเซลล์ขนาด 130-135 วัตต์
spec Mono 130-135 W_001_w

 แผงโซล่าเซลล์
 มีแผงโซล่าเซลล์ให้เลือกตั้งแต่ขนาดเล็ก 5V 1W ไปจนถึงขนาดใหญ่ เพื่องานที่แตกต่างกันไป สามารถคลิกเพื่อดูตัวอย่าง
                            









(ข้อมูลดีๆนี้จาก solarsmileknowledge)

หน้าที่ของไดโอดในแผงโซล่าเซลล์

ไดโอด ใน แผงโซล่าเซลล์

          อธิบายหน้าที่ของไดโอดเพื่อให้เข้าใจง่ายๆ คือจำกัดทิศทางกระแสไฟฟ้าไหลได้ทางเดียว โดยไฟฟ้ากระแสตรงจะมีขั้วบวกและขั้วลบ ถ้านำไฟกระแสตรงขั้วบวกไปต่อขั้วลบ(มีอีกชื่อว่า Cathodeหรือ K) ของไดโอดกระแสไฟฟ้าก็จะไม่ไหลในวงจร แต่ถ้านำไฟกระตรงขั้วบวกไปต่อกับไดโอดขั้วบวก(มีอีกชื่อว่า Anode หรือ A) กระแสไฟฟ้าก็สามารถไหลผ่านไดโอดไปได้
diode current flow_w

หน้าที่ไดโอด

การนำได้โอดมาใช้กับแผงโซล่าเซลล์นั้นมีการประยุกต์การใช้งานอยู่สองอย่างด้วยกัน
1.)   บล๊อคกิ่งไดโอด(Blocking Diode) ทำหน้าที่ป้องกันการคลายประจุออกมาจากแบตเตอรี่ในตอนกลางคืนหรือไม่มีพลังงานแสงอาทิตย์ส่องถึง Solar Cell Panel แล้ว เนื่องจากถ้ามืดสนิทแผงโซล่าเซลล์จะเปลี่ยนเป็นมีค่าความต่างศักย์ที่ต่ำกว่าตัวแบตเตอรี่ จะทำให้กระแสไหลจากแบตเตอรี่ไปสู่แผงโซล่าเซลล์ได้ โดยการต่อบล๊อคกิ่งไดโอดจะต่อขั้วบวกของไดโอดเข้ากับขั้วบวกของแผงโซล่าเซลล์เพื่อให้กระแสไฟฟ้าไหลออกจากตัวแผงเพียงทางเดียว โดยทั่วไปแล้วแผงโซล่าเซลล์ที่ผลิตมาจากโรงงานจะต่อบล๊อคกิ่งไดโอดไว้ภายในแผงด้วย
2.)   บายพาสไดโอด(Bypass-Diode) ทำหน้าที่เป็นตัวทำให้กระแสไฟฟ้าในวงจรไหลผ่านได้ในกรณีที่มีแผงโซล่าเซลล์บางแผงที่ต่ออนุกรมภายในระบบกันอยู่ โดนบดบังพลังงานแสงอาทิตย์ คือ ถ้าแผงโซล่าเซลล์แผงใดถูกบดบังจะทำให้เกิดความต้านทานในแผงที่สูงขึ้นมาก จึงทำให้ไปหยุดการไหลผ่านของกระแสไฟฟ้าภายในระบบได้ การต่อบายพาสไดโอดต่อโดยขนานกับแผงโซล่าเซลล์ เช่นเดียวกัน โดยทั่วไปแล้วโรงงานผู้ผลิตจะต่อบายพาสไดโอดมาพร้อมกับแผงโซล่าเซลล์เลย บางผู้ผลิต จะแบ่งเซลล์ออกเป็นอย่างละครึ่งภายในหนึ่งแผงแล้วต่อบายพาสไดโอดมาขนานเซลล์ที่แบ่งไว้ ดังนั้นในหนึ่งแผงอาจมีบายพาสไดโอดอยู่สองตัว การทำอย่างนี้ ถ้าเกิดมีวัตถุบดบังพลังงานแสงอาทิตย์เพียงครึ่งแผงโซล่าเซลล์ จะทำให้แผงก็ยังคงสามารถผลิตไฟฟ้าต่อไปได้ถึงแม้จะได้พลังงานเพียงครึ่งหนึ่งก็ตาม
blocking and bypass diode_w

ไดโอดในแผงโซล่าเซลล์




(ข้อมูลดีๆนี้จาก solarsmileknowledge)

ปริมาณรังสี พลังงานแสงอาทิตย์ ในไทย


thailand-irradiance_new_1

แผนที่ พลังงานแสงอาทิตย์


          ศักยภาพของพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทย พบว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ได้รับรังสีจากดวงอาทิตย์สูงสุดระหว่างเดือน เมษยน และพฤษภาคม โดยมีค่าอยู่ในช่วง 5.56-6.67 kWh/m2ต่อวัน และบริเวณที่ได้รับรังสีพลังงานแสงอาทิตย์สูงสุดเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยครอบคลุมบางส่วนของจังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด ยโสธร อุบลราชธานี และอุดรธานี และบางส่วนของภาคกลางที่จังหวัดสุพรรณบุรี ชัยนาท อยุธยา และลพบุรี โดยได้รับรังสีพลังงานแสงอาทิตย์เฉลี่ยทั้งปี 5.28-5.56 kWh/m2ต่อวัน พื้นที่ดังกล่าวคิดเป็น 14.3 เปอร์เซนต์ของพื้นที่ทั้งหมดของประเทศ นอกจากนี้ยังพบว่า 50.2 เปอร์เซนต์ ของพื้นที่ทั้งหมดได้รับรังสีพลังงานแสงอาทิตย์เฉลี่ยทั้งปีในช่วง 5-5.28 kWh/m2ต่อวัน และมีเพียง 0.5 เปอร์เซนต์ของพื้นที่ทั้งหมดที่ได้รับรังสีพลังงานแสงอาทิตย์ ต่ำกว่า 4.45 kWh/m2ต่อวัน

          เมื่อทำการเฉลี่ยความเข้มรังสีพลังงานแสงอาทิตย์ทั่วประเทศจากทุกพื้นที่เป็นค่ารายวันเฉลี่ยต่อปี จะได้เท่ากับ 5.05 kWh/m2 – day
(ข้อมูลดีๆนี้จาก solarsmileknowledge)

วันเสาร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

มหา Solar Farm สุดอลังการจากทั่วโลก

Solar Farm Big Project


          จีนกำลังสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุด โดยครอบคลุมพื้นที่ 6,301 เอเคอร์ในทะเลทรายโกบี ซึ่งจะมีศักยภาพในการผลิตกระแสไฟฟ้าให้กับบ้านเรือนกว่า 1 ล้านครัวเรือน!
          ข่าวนี้ถือเป็นการทำลายสถิติครั้งใหญ่อีกครั้งสำหรับจีน และการที่จีนเดินหน้าครั้งใหญ่นี้มีเหตุผลสำคัญ จากรายงานวิจัยของกรีนพีซเอเชียตะวันออก ได้เผยว่าคุณภาพอากาศของจีนดีขึ้นในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2558 หลังจากลดการใช้พลังงานถ่านหิน แต่อย่างไรก็ตามคุณภาพอากาศในเมืองต่างๆ ของจีนก็ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าระดับมาตรฐานโลก แต่หากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์นี้สำเร็จจะสามารถลดปริมาณการใช้พลังงานจากถ่านหินได้ 4.6 ล้านตันในแต่ละปี ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 896,000 ตัน และซัลเฟอร์ไดออกไซด์ได้ 8,080 ตัน 
(ตามข้อมูลจากสำนักข่าว Xinhua)
          การมุ่งสู่ยุคพลังงานหมุนเวียนกลายเป็นเทรนด์ระดับโลกไปแล้ว และโครงการเหล่านี้เป็นตัวอย่างโครงการโซลาร์เซลล์สุดอลังจากทั่วโลก มีโครงการไหนโดนใจบ้างรึเปล่า?

PS20 หอคอยโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ประเทศสเปน

          หอคอยโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์นี้ ดูราวกับเป็นหอคอยศักดิ์สิทธิ์ของศาสนสถาน โดยหอคอยนี้อยู่ที่ Sanlucar la Mayor นอกเมือง Seville ประเทศสเปน สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าให้กับบ้าน 6,000 ครัวเรือน


ระบบพลังงานแสงอาทิตย์ ที่โรงพยาบาลในเมือง Bihar ประเทศอินเดีย

          ที่โรงพยาบาลทริโพเลีย ประเทศอินเดีย มีการติดตั้งไฟฟ้าระบบความร้อนแบบจานรวมแสง (concentrated solar power-CSP) เพื่อผลิตไอน้ำซึ่งถูกนำมาใช้ในการฆ่าเชื้อโรคอุปกรณ์ทางการแพทย์ทุกชนิด และการซักล้าง นอกจากนี้ทางโรงพยาบาลยังมีโซลาร์เซลล์ในการผลิตไฟฟ้าสำหรับบางอาคาร และไฟนอกอาคาร รวมถึงระบบพลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์เพื่อต้มน้ำร้อนสำหรับคนไข้ใช้ในการอาบน้ำ และการเตรียมยา ระบบพลังงานแสงอาทิตย์ที่หลากหลายนี้ยังให้ประโยชน์กับพนักงานโรงพยาบาล 200 คน รวมถึงผู้ป่วยอีก 250 คนที่อาศัยอยู่ภายในโรงพยาบาล


แผงโซลาร์เซลล์ในสถานีพลังงานหมุนเวียนจากความร้อน Aerosbingประเทศเดนมาร์ก

          เกาะ Aeroe เป็นเกาะที่ใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน อยู่ทางใต้ของประเทศเดนมาร์ก โดยมีการผสมผสานระหว่างการใช้ฟางและแผงโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตพลังงานความร้อน ซึ่งหนึ่งในสามจากการใช้พลังงานจากฟางนั้นสร้างพลังงานความร้อนให้กับ 500 ครัวเรือน และพื้นที่บริเวณนี้ยังเป็นพื้นที่สำหรับให้สัตว์จากฟาร์มกินหญ้าอีกด้วย

โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จากโซลลาร์เซลล์ ที่ Tangtse ประเทศอินเดีย 

          โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จากโซลลาร์เซลล์ กำลังการผลิต 100 กิโลวัตต์ ที่ Tangtse ประเทศอินเดีย ตั้งอยู่ที่ความสูง 14,500 ฟุต เหนือระดับน้ำทะเล ในเทือกเขาฮิมาลายา โดยโรงไฟฟ้าแห่งนี้ผลิตไฟฟ้าให้กับคลินิก โรงเรียน และบ้าน 346 ครัวเรือน เป็นเวลาราว 5 ชั่วโมง ต่อวัน ในพื้นที่อันห่างไกลแห่งนี้ 

โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับโรงกลั่นน้ำ ประเทศอินเดีย

          พารามา แรม วัย 23 กำลังตรวจสอบแผงโซลาร์เซลล์ที่ผลิตไฟฟ้าให้กับโรงกลั่นน้ำทะเลในหมู่บ้าน Kotri เมือง Rajasthan โดยโรงกลั่นน้ำแห่งนี้ผลิตน้ำดื่มปริมาณ 3,000 ลิตร ต่อวัน โดยกลั่นจากน้ำใต้ดินในพื้นที่ พารามา อาศัยอยู่เหนือโรงกลั่น และเป็นผู้ที่อุทิศตนมากที่สุดคนหนึ่ง ตัวเขาเองได้โน้มน้าวให้ครอบครัว 100 ครัวเรือน จาก 150 ครอบครัว สะสมน้ำ และไว้วางใจว่าระบบนี้สะอาดพอ โดยก่อนที่โรงกลั่นแห่งนี้จะเกิดขึ้น พารามา และชาวหมู่บ้านคนอื่นๆ มักจำเป็นจะต้องดื่มน้ำเค็มจากใต้ดิน
โครงการเหล่านี้เป็นเพียงไม่กี่ตัวอย่างของโครงการโซลาร์เซลล์ที่ผลิตพลังงานดีๆ เพื่อสาธารณประโยชน์จากทั่วโลก และยังมีโครงการอีกมากมายที่กำลังจะเกิดขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นการตอกย้ำถึงอนาคตพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดนั้นเป็นจริงได้!!! 

ถึงเวลาแล้วที่โลกของเราจะเข้าสู่ยุคพลังงานหมุนเวียน พลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเราทุกคน 


เลือกซื้อสินค้า โซล่าเซลล์ คลิก



ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์

ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์


ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ : การเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานไฟฟ้า

          ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ถูกใช้งานอย่างมากแล้วในหลายส่วนของโลก และมีศักยภาพในการผลิตพลังงานไฟฟ้ามากกว่าการบริโภคพลังงานของโลกในปัจจุบันหลายเท่าหากใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสม พลังงานแสงอาทิตย์สามารถนำมาใช้ได้โดยตรงเพื่อผลิตไฟฟ้าหรือสำหรับทำความร้อน หรือแม้แต่ทำความเย็น ศักยภาพในอนาคตของพลังงานแสงอาทิตย์นั้นถูกจำกัดโดยแค่เพียงความพอใจของเราที่จะใช้มันตราบเท่าที่มีโอกาส

          มีวิธีการมากมายที่เราสามารถนำพลังงานจากแสงอาทิตย์มาใช้งานได้ พืชเปลี่ยนแสงอาทิตย์เป็นพลังงานทางเคมีโดยใช้การสังเคราะห์แสง เราใช้ประโยชน์จากพลังงานนี้โดยการกินพืชและนำไม้ฟืนมาเป็นแหล่งเชื้อเพลิง อย่างไรก็ตามคำว่า "พลังงานแสงอาทิตย์" หมายถึงการเปลี่ยนแสงอาทิตย์โดยตรงมากกว่าเปลี่ยนไปเป็นพลังงานความร้อนหรือพลังงานไฟฟ้าสำหรับใช้งาน ประเภทพื้นฐานของพลังงานแสงอาทิตย์ คือ "พลังความร้อนแสงอาทิตย์" และ "เซลล์แสงอาทิตย์"

แผงโซล่าเซลล์


เซลล์แสงอาทิตย์ (Solar Cell)

          การทำงานและหน้าที่ของเซลล์แสงอาทิตย์คือการผลิตไฟฟ้าจากแสง(ไม่ใช่ความร้อน) ความลับของกระบวนการนี้คือการใช้สารกึ่งตัวนำที่สามารถปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมเพื่อปล่อยประจุไฟฟ้า สารกึ่งตัวนำที่ใช้กันมากที่สุดในเซลล์แสงอาทิตย์คือซิลิกอน ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่พบโดยทั่วไปในทราย โดย เซลล์แสงอาทิตย์(แผงโซล่าเซลล์)ทุกชิ้นมีสารกึ่งตัวนำดังกล่าว 2 ชั้น ชั้นหนึ่งถูกชาร์จที่ขั้วบวก อีกชั้นหนึ่งถูกชาร์จที่ขั้วลบ เมื่อแสงส่องมายังสารกึ่งตัวนำ สนามไฟฟ้าที่วิ่งผ่านส่วนที่ 2 ชั้นนี้ตัดกันทำให้เกิดการใหลของกระแสไฟฟ้า ยิ่งแสงส่องแรงมากเท่าใด กระแสไฟฟ้าก็มีมากขึ้นเท่านั้น
ดังนั้นเซลล์แสงอาทิตย์จึงต้องการปริมาณของแสงอาทิตย์ที่สว่างเพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้า

          ในปัจจุบันมีาการใช้เซลล์แสงอาทิตย์ขนาดเล็กมาสร้างพลังงานให้กับอุปกรณ์ขนาดเล็ก เช่น เครื่องคิดเลข ของเล่น โคมไฟพลังงานแสงอาทิตย์ นอกจากนี้เซลล์แสงอาทิตย์ยังใช้เพื่อผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ที่ไม่มีสายส่งไฟฟ้า เราได้พัฒนาตู้เย็นที่เรียกว่าความเย็นจากแสงอาทิตย์ (Solar Chill) ที่สามารถปฏิบัติงานโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ หลังจากทดสอบแล้วจะถูกนำไปใช้ในองค์กรสิทธิมนุษยชนเพื่อช่วยให้บริการวัคซีนในพื้นที่ที่ไม่มีไฟฟ้า และจะถูกนำไปใช้โดยผู้ที่ไม่ต้องการพึ่งพาสายส่งไฟฟ้าเพื่อรักษาความเย็นของอาหาร

โคมไฟพลังงานแสงอาทิตย์



          นอกจากนี้ สถาปนิกยังใช้เซลล์แสงอาทิตย์(แผงโซล่าเซลล)เพิ่มมากขึ้น ตัวอย่างเช่น หลังคากระเบื้องหรือหินชนวนติดเซลล์แสงอาทิตย์สามารถใช้แทนวัสดุทำหลังคาที่ใช้กันทั่วไป ฟิล์มแบบบางที่ยืดหยุ่นสามารถนำไปประกอบเข้ากับหลังคารูปโค้งได้ ในขณะที่ฟิล์มกึ่งโปร่งแสงทำให้เกิดการผสมผสานแสงเงาเข้ากับแสงในตอนกลางวัน นอกจากนี้เซลล์แสงอาทิตย์ยังสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้มากในวันที่อากาศร้อนในฤดูร้อนเมื่อใช้กับระบบเครื่องปรับอากาศที่ต้องใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นจำนวนมากด้วย ซึ่งเป็นการลดค่าไฟฟ้าได้เป็นจำนวนมากมาย


เลือกซื้อสินค้า โซล่าเซลล์ คลิก

วันศุกร์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

แนวโน้ม Solar Farm ไทย


Solar Farm




          12 พ.ย. 2558 กกพ.สรุปยอด Solar farm หรือระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตรในเฟสแรก กว่า 600 ราย แตะ 2,900 เมกะวัตต์ สูงกว่าเป้าหมายรับซื้อเกือบ 5 เท่า
          นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า การยื่นคำขอรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน สำหรับหน่วยงานราชการ และสหกรณ์ภาคการเกษตร หรือโซลาร์ฟาร์ม ตั้งแต่วันที่ 1-10 พฤศจิกายน 2558 ที่ผ่านมา มีผู้ยื่นคำขอขายไฟฟ้า รวมจำนวนทั้งสิ้น 618 ราย และคิดเป็นปริมาณการเสนอขายไฟฟ้ารวมทุกเขตพื้นที่ (ยกเว้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้) เป็นจำนวน 2,905.50 เมกะวัตต์ เมื่อเทียบกับเป้าหมายที่วางไว้ในเฟสแรกจำนวน 600 เมกะวัตต์ ยังคงสูงกว่าเป้าหมายกว่า 5 เท่า ส่วนการยื่นคำขอขายไฟฟ้า สำหรับปริมาณเสนอขายในเขตพื้นที่ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคที่ยื่นมาในครั้งนี้ มีปริมาณการเสนอขายไฟฟ้ารวม 2,709.20 เมกะวัตต์ สูงจากเป้าหมายรับซื้อ 389 เมกะวัตต์ เกือบ 7 เท่า
         อย่างไรก็ตาม สำนักงาน กกพ. ยังเปิดรับเอกสารประกอบแบบคำขอเข้าร่วมโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มเติม จนถึงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2558จากนั้นจึงเริ่มพิจารณาตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ที่ยื่นแบบคำขอ เพื่อประกาศรายชื่อโครงการที่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติได้ในวันที่ 11 ธันวาคม 2558 และเข้าสู่กระบวนการจับฉลากในวันที่ 15 ธันวาคม 2558 และจะประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกอย่างเป็นทางการภายในวันที่ 24 ธันวาคม 2558 เพื่อให้ผู้ที่ได้รับเลือกเข้าร่วมโครงการไปทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายและจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ได้ภายในเดือนกันยายน 2559 ก่อนที่จะประกาศรับซื้อไฟฟ้าในเฟสที่สองและพื้นที่ที่เหลือภายในปี 2559 และกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ในปี 2561 (มกราคม-มิถุนายน)



จากแหล่งข่าว : http://www.innnews.co.th

รถไฟฟ้า+พลังงานแสงอาทิตย์ คันแรกของไทย

รถไฟฟ้า+พลังงานแสงอาทิตย์


          น.ส.ฉันทนา หวังศิลปคุณ ผู้อำนวยการขนส่งจังหวัดปทุมธานี ได้ให้ข้อมูลกับผู้สื่อข่าวว่าได้ให้การจดทะเบียนรถยนต์แปลงสภาพ เป็นรถยนต์ไฟฟ้า(พลังงานแสงอาทิตย์) ซึ่งเป็นรถคันแรกของ จ.ปทุมธานี และ"ของประเทศไทย" โดย นายไพศาล ตั่งยะฤทธิ์ เจ้าของรถไฟฟ้าคันดังกล่าวได้นำรถยนต์ ยี่ห้อโตโยต้า รุ่นโซลูน่า หมายเลขทะเบียน กต 5517 ปทุมธานี มาดัดแปลงสภาพ เป็นรถยนต์ใช้ไฟฟ้าเพียวๆ และนำแผงโซลาร์เซลล์มาติดตั้งบนหลังคารถเพื่อแปลงพลังงานแสงอาทิตย์มาเป็นพลังงานไฟฟ้าชาร์จประจุเก็บใว้ในแบตเตอรี่ เพื่อยืดระยะทางวิ่งออกไปอีก เพิ่มจากการชาร์จไฟฟ้าจากปลักไฟฟ้าตามบ้านเรือน หรือสถานีชาร์จไฟฟ้าทั่วไป จึงนับว่าเป็นสิ่งที่ดี ที่ภาคเอกชนเห็นคุณค่าถึงความประหยัด และเรื่องการลดมลภาวะทางอากาศ และเสียง เพื่อเป็นการลดโลกร้อน ที่ประชาคมโลกต่างหันมาให้ความสำคัญกับการลดมลภาวะ และมลพิษทางอากาศ หากรัฐบาลไทยให้การสนับสนุน ส่งเสริมให้รถเมล์ โดยสาร รถยนต์แท็กซี่ และรถสามล้อตุ๊กตุ๊กหันมาใช้ระบบไฟฟ้า เพื่อสร้างกระแสค่านิยมให้กับภาคเอกชน โดยเฉพาะเมืองใหญ่ๆ หรือตามเมืองท่องเที่ยว ซึ่งจะเป็นจุดขายดึงดูดนักท่องเที่ยว อันจะเป็นรายได้เข้าประเทศ อีกช่องทางหนึ่ง





          ด้าน นายอภิชาติ เกื้อมา หัวหน้าฝ่ายตรวจสภาพรถขนส่งจังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า รถยนต์ ที่มายื่นขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงระบบขับเคลื่อนจากเครื่องยนต์เชื้อเพลิง เป็นรถไฟฟ้านั้น จะต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติของ พ.ร.บ.กรมการขนส่งทางบก โดยมอเตอร์ไฟฟ้า ที่นำมาดัดแปลงใส่แทนเครื่องยนต์ จะต้องมีกำลังขับไม่น้อยกว่า 20 Kw. และทำความเร็วบนท้องถนนหลวงได้ไม่น้อยกว่า 40 กิโลเมตร/ชั่วโมง เพื่อป้องกันจราจรติดขัดและไม่กีดขวางช่องการจราจรของรายอื่น จึงต้องขึ้นตรวจสภาพบนเครื่องวัดความเร็ว ที่นอกเหนือจากการตรวจสภาพความสมบูรณ์ ทั้งระบบของรถไฟฟ้า และระบบเบรก จากสถานประกอบการตรวจสภาพรถเอกชน (ตรอ.)
          ส่วน นายไพศาล ตั่งยะฤทธิ์ เจ้าของรถ กล่าวว่า ได้ใช้เวลากว่า 3 ปีที่ผ่านมา ศึกษาและวางแผนทำโครงการเปลี่ยนแปลงรถยนต์ เป็นรถไฟฟ้า(พลังงานแสงอาทิตย์) กว่าจะสำเร็จได้ โดยจะมีการพัฒนาต่อยอด จากเดิมวิ่งความเร็วสูงสุด 110 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และวิ่งได้ระยะทางเฉลี่ย 100 กิโลเมตร ในการชาร์จไฟต่อครั้งที่ 6-8 ชั่วโมง จึงเล็งเห็นว่า ภาวะวิกฤติน้ำมันผันผวนเมื่อหลายปีที่ผ่านมา ที่เคยขึ้นสูงเกือบ 50 บาท/ลิตร รวมทั้งการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศมูลค่าต่อปีจำนวนมหาศาล ซึ่งหากมีหน่วยงานหรือองค์กรใดให้ความสนใจ ก็ยินดีอบรมให้ความรู้ด้านเทคนิค รวมทั้งชิ้นส่วนประกอบของรถยนต์ไฟฟ้า(พลังงานแสงอาทิตย์) หรือติดตามได้ทาง facebook ติดตั้งแก๊ส CSM เพื่อให้เกิดการแพร่หลาย ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะตามหัวเมืองใหญ่ ที่การจราจรติดขัด อันส่งผลให้มีการปล่อยควันพิษจากท่อไอเสียรถยนต์จำนวนมาก และเกิดโรคภัยไข้เจ็บ ในระบบทางเดินหายใจ
          น.ส.ฉันทนา หวังศิลปคุณ ผอ.ขนส่งจังหวัดปทุมธานี มอบสมุดคู่มือ และแผ่นป้ายทะเบียน กต 5517 ปทุมธานี ให้กับนายไพศาล ตั่งยะฤทธิ์ หนุ่มใหญ่เจ้าของรถยนต์ที่ดัดแปลงรถยนต์ มาใช้พลังงานไฟฟ้า(พลังงานแสงอาทิตย์) ซึ่งเป็นคันแรกของประเทศไทย ที่จดทะเบียนได้


จากแหล่งข่าว : http://www.thairath.co.th
เลือกซื้อ สินค้าโซล่าเซลล์ คลิก