โคมไฟพลังงานแสงอาทิตย์
ความต้องการแสงสว่างในทุกๆพื้นที่ใช้สอยในยามค่ำคืนเป็นสิ่งสำคัญในการดำเนินกิจกรรมด้านต่างๆ การรักษาความปลอดภัยบริเวณที่พักอาศัย หรือแม้กระทั่งเพื่อความสวยงามทั้งรอบๆตัวบ้านหรือในบริเวณสวนก็ตาม แต่ในบางสภาพพื้นที่ การที่จะเดินระบบไฟฟ้าไปยังจุดต่างๆเพื่อให้หลอดแสงสว่างนั้นอาจมีปัญหาเช่น ระยะทางที่ไกล ต้องใช้สายไฟฟ้าขนาดใหญ่ไฟจึงจะไม่ตก แต่ก็มีปัญหาเรื่องราคาค่าสายไฟ หรือเมื่อเดินสายไฟไปแล้วได้แสงสว่างแต่กลับทำให้ภูมิทัศน์ในสวนหรือรอบตัวบ้านรกหูรกตาขึ้นมาทันที ใหนจะเจอปัญหาเรื่องกระแสไฟฟ้ารั่ว เป็นอันตรายต่อชีวิตตนเอง คนในครอบครัว และสัตว์เลี้ยงอีก นี่ยังไม่รวมค่าไฟ ค่าสายไฟ ค่าหลอดไฟ ฯลฯ
ปัญหานี้มีทางออกครับ ด้วยระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดเล็ก ที่ผลิตไฟฟ้าให้พอใช้สำหรับการให้แสงสว่างเฉพาะจุด สามารถให้แสงสว่างเล็กๆน้อยๆในสวนหรือทำให้สวนมีสีสันต์ในยามค่ำคืนขึ้นด้วยโคมไฟสีต่างๆ ต่อมาก็ขนาดใหญ่ขึ้นเพียงพอสำหรับให้แสงสว่างรอบๆตัวบ้านเพื่อรักษาความปลอดภัยได้ ใหญ่ขึ้นมาอีกจนต้องเรียกว่าสปอร์ตไลท์พลังงานแสงอาทิตย์ก็ว่าได้ ให้แสงสว่างสำหรับป้ายโฆษณาต่างๆที่ต้องใช้แสงสว่างมากเพื่อความโดดเด่นของป้ายหน้าบ้าน หน้าร้าน หรือป้ายโฆษณาทั่วๆไปในยามค่ำคืน มาทำความรู้จักอุปกรณ์พวกนี้กันครับ
โคมไฟจัดสวนพลังงานแสงอาทิตย์(Solar Garden light)
มารู้จักการทำงานของ โคมไฟจัดสวนพลังงานแสงอาทิตย์ กันครับ จาก Block Diagram ทางด้านขวา ระบบทำงานหลักของมันจะมีอยู่ 3 ส่วนคือ
1. แผงโซล่าเซลล์ ทำหน้าที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ไฟฟ้าที่ได้จะเป็นไฟฟ้ากระแสตรงให้ได้ไฟตั้งแต่ 4.5 VDC ขึ้นไปเพื่อใช้ในการชาร์ตแบตเตอรี่ แผงโซล่าเซลล์ที่ใช้ส่วนใหญ่จะเป็นชนิด amorphous silicon solar cell (อะมอร์ฟัส) เพราะมีความไวต่อการรับแสงเร็วกว่าชนิดอื่นๆจึงผลิตไฟฟ้าชาร์จแบตเตอรี่ได้เร็วกว่า
2. ชุดควบคุมการชาร์จไฟจากที่แผงโซล่าเซลล์ผลิตได้ลงในแบตเตอรี่
3. ชุดความคุมการจ่ายไฟ แบตเตอรี่ และหลอด LED จากการสังเกตุ(บวกกับความซน) แบตเตอรี่ที่ใช้ในระบบส่วนใหญ่ผู้ผลิตจะใช้แบตเตอรี่ชนิด NiMH (นิกเกล-เมทัล-ไฮไดรด์) จึงจำเป็นมากที่ตอนเริ่มใช้ในครั้งแรกควรเลือกเริ่มนำโคมไฟพลังงานแสงอาทิตย์ไปรับแดดในวันที่มีแดดเต็มที่(ผู้ผลิตไม่ค่อยบอกผู้ใช้กัน)เพืี่อให้แบตเตอรี่มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน ตามคุณสมบัติของแบตเตอรี่
การทำงานของระบบโคมไฟพลังงานแสงอาทิตย์นั้น ออกแบบมาให้ระบบทำการชาร์จประจุไฟฟ้าตอนกลางวัน และจ่ายพลังงานไฟฟ้าให้หลอด LED ในตอนกลางคืนอัตโนมัติ และตัดไฟอัตโนมัติในยามเช้าพระอาทิตย์ขึ้น เรียกว่า เราแค่ติดตั้งให้อุปกรณ์ตากแดดใว้แค่นั้นแล้วก็จบครับ หลังจากนั้นโคมไฟพลังงานแสงอาทิตย์มันจะทำงานของมันเอง
* ระบบไฟฟ้าในอุปกรณ์ทั้งหมดเป็นไฟกระแสตรงแรงดันต่ำจึงปลอดภัยต่อทุกชีวิตในบ้าน
โคมไฟพลังงานแสงอาทิตย์
โคมไฟพลังงานแสงอาทิตย์ หรือจะเรียกว่าโคมไฟโซล่าเซลล์ก็ได้ครับ หลักการทำงานก็คล้ายๆกับโคมไฟจัดสวนพลังงานแสงอาทิตย์ แต่แผงโซล่าเซลล์จะใหญ่กว่า หลอดไฟ LED ปริมาณหลายหลอดกว่า และแบตเตอรี่ที่มีความจุมากกว่าครับ
โคมไฟพลังงานแสงอาทิตย์บางชนิดหลังจากมืดแล้วจะยังไม่ทำงานเพราะเป็นโคมไฟประเภทตรวจจับการเคลื่อนไหว เพื่อเป็นการประหยัดพลังงานมันจะดับอยู่อย่างนั้นแม้จะมืดค่ำแล้วก็ตาม จนกว่าจะมีวัตถุเคลื่อนผ่านบริเวณนั้นๆ ระบบ Sensor จึงจะสั่งงานให้หลอดไฟทำงานเพื่อให้เห็นความเป็นไปบริเวณนั้น ไม่ว่าจะคน(ขโมย) สัตว์จำพวกสุนัข แมว ฯ หากย่างกรายเข้าไปโดนตรวจจับได้หมดครับ
สปอร์ตไลท์พลังงานแสงอาทิตย์
หลอด LED ที่ใช้ในระบบส่วนมากเป็นชนิด SMD LED ซึ่งจะให้แสงสว่างมากกว่าและอายุการใช้งานนานกว่า แบตเตอรี่ที่ใช้อาจเป็นแบตเตอรี่แบบเซลล์แห้งคล้ายๆกับแบตเตอรี่ที่อยู่ใน UPS ที่เราใช้สำรองไฟให้กับคอมพิวเตอร์ จึงทำให้สามารถเก็บพลังงานได้มาก ตัวโคมหลอดสปอร์ตไลท์ออกแบบมาให้กันน้ำ ทนแดด ทนฝน เพื่อให้สามารถใช้งานกลางแจ้งได้ทนทาน แผงโซล่าเซลล์ที่ใช้ในระบบจะเปลี่ยนเป็นแบบ Poly Crystalline หรือ Mono Crystalline เพราะแผงโซล่าเซลล์ชนิดนี้จะผลิตกระแสไฟฟ้าได้ดีกว่าชนิด amorphous siliconsolar cell ถึงแม้จะไวแสงน้อยกว่าก็ตาม
จากด้านล่างลองมาดูคลิปวิดีโอที่เค้าผ่าระบบ โคมไฟพลังงานแสงอาทิตย์หรือโคมไฟโซล่าเซลล์กันครับ
เท่าที่เขียนมา ขอให้ท่านถือว่าผม(ผู้มีประสบการด้านงานโซล่าเซลล์บ้างเล็กน้อย)แค่มาเล่าให้ท่านฟังนะครับ อาจจะไม่ครบทุกๆด้านแต่คิดว่ามันอาจช่วยทำให้ท่านรู้จักอุปกรณ์พวกนี้มากขึ้น เพื่อช่วยในการตัดสินใจว่าควรหรือไม่ ที่จะใช้หรือไม่ใช้เจ้าตัวโคมไฟพลังงานแสงอาทิตย์นี้ ซึ่งแล้วแต่ท่านจะพิจารณาครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น